ความเกี่ยวข้องต่อการสืบราชสันตติวงศ์ ของ ธรรมนูญเวสต์มินสเตอร์ (ค.ศ. 1931)

นายกรัฐมนตรีแคนาดา วิลเลียม ไลอัน แมกเคนซี คิง (ซ้าย) และนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร สแตนลีย์ บอลดวิน (ขวา) เมื่อ ค.ศ. 1926

ในบทนำของธรรมนูญแห่งเวสต์มินสเตอร์ได้กำหนดถึงขนบประเพณีที่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนกฎการสืบราชสันตติวงศ์ แห่งพระมหากษัตริย์ในย่อหน้าที่สองของบทนำระบุว่า

และทั้งที่เป็นการสมควรและเหมาะสมที่จะกำหนดไว้ในคำนำในพระราชบัญญัตินี้ว่าตราบเท่าที่สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสัญลักษณ์ของสมาชิกสัมพันธ์เสรีในเครือจักรภพแห่งประชาชาติ ซึ่งได้รวมกันเป็นหนึ่งเดียวภายใต้ความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์เสมอเหมือนกัน จึงเป็นการสอดคล้องกันกับสถานะทางรัฐธรรมนูญที่ได้จัดตั้งขึ้นของประเทศสมาชิกแห่งเครือจักรภพซึ่งมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันว่าการเปลี่ยนแปลงแก้ไขใดๆ ในกฎหมายที่จะเกี่ยวข้องกับการรสืบราชสันตติวงศ์หรือพระอิสริยยศจะต้องได้รับพระบรมราชานุญาตและได้รับการยินยอมเห็นชอบจากรัฐสภาในประเทศเครือจักรภพทั้งหมดรวมถึงรัฐสภาแห่งสหราชอาณาจักร

ซึ่งหมายความว่า ตัวอย่างเช่น การเปลี่ยนแปลงของบทบัญญัติในพระราชบัญญัติว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ของประเทศใดๆ ซึ่งมีเนื้อหาสำคัญที่ห้ามมิให้ผู้นับถือนิกายโรมันคาทอลิกขึ้นครองราชสมบัติ ซึ่งการจะเปลี่ยนแปลงบทบัญญัตินี้ได้นั้นจะต้องได้รับการเห็นชอบจากรัฐสภาทั้งหมดในเครือจักรภพแห่งประชาชาติหากจะคงไว้ซึ่งวัตถุประสงค์เดียวกันเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ คำนำนี้ไม่ได้มีบทบัญญัติที่สามารถบังคับใช้ได้เอง โดยเพียงแค่เป็นการชี้ให้เห็นถึงจารีตรัฐธรรมนูญแม้ว่าจะมีเพียงพื้นฐานประการหนึ่งของความสัมพันธ์ระหว่างอาณาจักรเครือจักรภพ (ในฐานะของรัฐเอกราชนั้น แต่ละรัฐย่อมมีอิสระในการเพิกถอนจากข้อตกลงโดยผ่านขั้นตอนของการแก้ไขรัฐธรรมนูญในรัฐนั้นๆ) นอกจากนี้ ในหมวดที่ 4 บัญญัติไว้ว่าหากอาณาจักรใดมีความประสงค์ที่จะให้ผ่านกฎหมายสหราชอาณาจักรเพื่อแก้ไขพระราชบัญญัติว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ของสหราชอาณาจักรเพื่อจะนำไปใช้ในเป็นกฎหมายของอาณาจักรนั้น จึงจะถือเป็นการแก้ไขพระราชบัญญัติว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ของอาณาจักรนั้นได้ ซึ่งจะต้องมีการร้องขอต่อและต้องได้รับการยินยอมรัฐสภาสหราชอาณาจักรโดยตราเป็นกฎหมายสหราชอาณาจักร อย่างไรก็ตามหมวดที่ 4 แห่งธรรมนูญเวสต์มินสเตอร์นั้นถูกยกเลิกในหลายอาณาจักรโดยถูกแทนที่ด้วยมาตราในรัฐธรรมนูญที่ห้ามมิให้รัฐสภาสหราชอาณาจักรเข้ามามีอำนาจนิติบัญญัติในอาณาจักรนั้นๆ โดยเด็ดขาด

เหตุนี้จึงทำให้เกิดความกังวลในหลายฝ่าย ซึ่งหมายความว่ารัฐสภาในทุกประเทศจะต้องให้คำยินยอมต่อความเปลี่ยนแปลงใดๆ ของแต่ละอาณาจักรที่จะเปลี่ยนแปลงกฎการสืบราชสันตติวงศ์ดังตัวอย่างเช่นในความตกลงเพิร์ธซึ่งเป็นข้อเสนอในการยกเลิกหลักสิทธิของบุตรชายหัวปี[11]

กรณีสละราชสมบัติของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8

ตราสารแห่งการสละราชสมบัติ ลงพระปรมาภิไธยโดยพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 พร้อมด้วยพระอนุชาทั้งสามพระองค์ ได้แก่ เจ้าชายอัลเบิร์ต, เจ้าชายเฮนรี และเจ้าชายจอร์จ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม ค.ศ. 1936

ในช่วงวิกฤตการณ์สละราชสมบัติในปีค.ศ. 1936 นายกรัฐมนตรีสแตนลีย์ บอลดวิน ได้หารือกับนายกรัฐมนตรีในเครือจักรภพแห่งประชาชาติตามพระราชประสงค์ของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 เนื่องจากทรงมีพระราชประสงค์จะอภิเสกกับวอลลิส ซิมป์สัน ผู้ซึ่งนายกรัฐมนตรีและนักการเมืองทั้งหลายในสหราชอาณาจักรเห็นว่าไม่เหมาะสมต่อฐานะสมเด็จพระราชินีเนื่องจากเป็นชาวอเมริกันผู้ที่เคยผ่านการหย่าร้างมาก่อน บอลดวินยังสามารถได้ความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรีจากห้าประเทศในเครือจักรภพให้ตกลงต่อความไม่ชอบนี้และบันทึกความไม่เห็นชอบต่อการอภิเสกสมรส ต่อมาทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยให้นายกรัฐมนตรีทั้งหลายในเครือจักรภพตกลงเห็นชอบกันเรื่องแผนการรอมชอมที่จะทรงอภิเสกต่างฐานันดรซึ่งจะทำให้[วอลลิส ซิมป์ซัน]]ไม่ได้ขึ้นเป็นสมเด็จพระราชินี และด้วยการกดดันจากบอลดวิน แผนสำรองนี้ไม่ได้รับการเห็นชอบโดยกลุ่มประเทศในเครือจักรภพ โดยข้อต่อรองต่างๆ เหล่านี้เกิดขึ้นในระดับการทูตเท่านั้น และไม่เคยถึงรัฐสภาในประเทศเครือจักรภพเลย อย่างไรก็ดี การตรากฎหมายเพื่อยินยอมให้มีการสละราชสมบัติ (พระราชบัญญัติพระราชประสงค์ในการสละราชสมบัติ ค.ศ. 1936) ต้องการความเห็นชอบของรัฐสภาของแต่ละประเทศในเครือจักรภพ และได้รับการยินยอมจากรัฐบาลของประเทศนั้นๆ เพื่อที่จะบังคับใช้เป็นพระราชบัญญัติของในแต่ละประเทศได้โดยสมบูรณ์ เพื่อความสะดวกและหลีกเลี่ยงความลำบากใจนั้น รัฐบาลสหราชอาณาจักรจึงแนะนำให้รัฐบาลของประเทศต่างๆ ในเครือจักรภพให้เห็นชอบต่อประเด็นว่าสมาชิกในพระราชวงศ์พระองค์ใดที่ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักรนั้นย่อมเป็นพระมหากษัตริย์ของประเทศในเครือจักรภพอื่นๆ โดยปริยาย อย่างไรก็ตาม ประเทศอื่นๆ ไม่ยอมรับข้อเสนอนี้ วิลเลียม ไลอัน แมกเคนซี คิง นายกรัฐมนตรีแคนาดา ได้ระบุว่าธรรมนูญแห่งเวสต์มินสเตอร์บัญญัติไว้ชัดว่าแคนาดาจะต้องได้รับคำร้องขอและต้องให้ความเห็นชอบต่อร่างกฎหมายใดๆ ที่ผ่านโดยรัฐสภาสหราชอาณาจักร ก่อนที่จะมาบังคับใช้เป็นกฎหมายแคนาดาและมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงการสืบสันตติวงศ์ของแคนาดาได้ โดยบทบัญญัติในพระราชบัญญัติฉบับของสหราชอาราจักรบัญญัติไว้ว่าแคนาดาจะต้องได้รับคำร้องขอและแคนาดาจะต้องให้ความเห็นชอบ (เป็นประเทศเดียวในเครือจักรภพ[12]) ในพระราชบัญญัติใดๆ ที่จะบังคับใช้ในแคนาดาภายใต้ธรรมนูญเวสต์มินสเตอร์ ในขณะที่ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และสหภาพแอฟริกาใต้เพียงแค่ให้ความยินยอมเพียงฝ่ายเดียว

แหล่งที่มา

WikiPedia: ธรรมนูญเวสต์มินสเตอร์ (ค.ศ. 1931) http://www.cbc.ca/2017/canada-is-celebrating-150-y... http://www.bac-lac.gc.ca/eng/discover/politics-gov... http://www.sen.parl.gc.ca/nkinsella/PDF/SpecialEve... http://www.heritage.nf.ca/law/commission_gov.html http://www2.marianopolis.edu/nfldhistory/Newfoundl... http://www.legislation.gov.uk/ukpga/1931/4/pdfs/uk... http://www.parliament.uk/edm/2004-05/895 https://www.theglobeandmail.com/opinion/a-statute-... https://web.archive.org/web/20080720173301/http://... https://web.archive.org/web/20141218201437/http://...